กระเทียม คือสมุนไพรที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและปลูกอยู่ทั่วโลก เป็นพืชตระกูลเดียวกับหัวหอม ต้นหอม และกุ๋ยช่าย คาดว่ามีต้นกำเนิดในแถบไซบีเรีย และเพาะปลูกทั่วโลกมานานกว่า 5,000 ปีแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงนิยมใช้กระเทียมในการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ปัญหาความดันเลือด หรืออาจใช้เป็นสมุนไพรลดไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ และระดับคอเรสเตอรอลในเลือด นอกจากนี้ยังนิยมใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายประเภท
ที่มาของกลิ่นกระเทียม มาจากสารที่เรียกว่า แอลลิซิน (Allicin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบเคมีที่มีสรรพคุณบรรเทาปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน คอเรสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง มะเร็งต่อมลูกหมาก กลาก และสังคัง ปัจจุบันมีหลายบริษัทออกผลิตภัณฑ์กระเทียม “ไร้กลิ่น” โดยนำกระเทียมมาบ่ม หรือผ่านกรรมวิธีอื่นๆ
กระเทียมดำ คือผลผลิตจากการนำกระเทียมมาบ่มในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 60–90 องศาเซลเซียส ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูงระหว่าง 80–90% ความแตกต่างหลักระหว่างกระเทียมสด และกระเทียมดำคือ รสชาติจะไม่เหม็นฉุน เนื่องจากกระเทียมดำมีสารแอลลิซินหลงเหลือน้อยกว่า เพราะสารแอลลิซินเหล่านี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระโดยธรรมชาติระหว่างกระบวนการ เช่น แอลคาลอยด์ชีวภาพ สารเอสเอซี (S-allylcysteine, SAC) และสารประกอบฟลาโวนอยด์ เป็นต้น กระบวนการบ่มเปลี่ยนคุณสมบัติทางเคมีกายภาพของกระเทียมให้มีสีดำ มีรสหวาน และเนื้อเหนียวนุ่มคล้ายเยลลี่ อย่างไรก็ตามระยะเวลาบ่มที่แตกต่างกันออกไป ก็ให้คุณประโยชน์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ผู้ผลิต และจุดประสงค์ ปัจจุบันมีกระเทียมดำหลากหลายประเภทวางขายในท้องตลาดให้เลือกซื้อได้อย่างง่ายดาย
แม้จะเป็นกระเทียมเหมือนกัน แต่สารอาหารที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานกระเทียมสด และกระเทียมดำนั้นแตกต่างกัน
องค์ประกอบคร่าว ๆ ของกระเทียมสด:
● น้ำ 63%
● คาร์โบไฮเดรต 28%
● สารประกอบอินทรีย์ซัลเฟอร์ 2.3%
● โปรตีน 2%
● กรดอะมิโนอิสระ 1.2%
● ไฟเบอร์ 1.5%
และยังมีสารประกอบจำนวนมากที่สามารถแตกตัวในน้ำและออกซิไดซ์ เพื่อเปลี่ยนสารแอลลิซิน (Allicin) เป็นสารแอลลิอิน (Alliin) อย่างไรก็ตาม สารอาหารในกระเทียมสดเหล่านี้จะสลายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อนำไปหั่น บด เคี้ยว หรือตาก
ในขณะเดียวกัน การรับประทานกระเทียมดำนั้นมีประโยชน์มากกว่า เพราะสารประกอบทางเคมีที่อยู่ในกระเทียมสด จะถูกเปลี่ยนเป็นสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพระหว่างกระบวนการบ่มความร้อน อีกทั้งสารที่เกิดขึ้นนั้นทนความร้อน คงตัว ไม่สลายโดยง่าย ดังนั้นกระเทียมดำจึงมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น SAC ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง มากกว่ากระเทียมสดหลายเท่า
จากผลวิจัยกระเทียมดำ ประโยชน์ของกระเทียมดำที่ได้จากการรับประทานทุกวัน คือ เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ลดภูมิแพ้ ควบคุมเบาหวาน ลดการอักเสบ และกำจัดสารก่อมะเร็ง
และด้วยสรรพคุณของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีมากในกระเทียมดำจึงสามารถกระตุ้นระบบเผาผลาญ ลดความเหนื่อยล้า ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แก้ท้องผูก ปกป้องตับ ฟื้นฟูการทำงานของต่อมลูกหมาก และช่วยให้หลับสบาย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจำนวนมากพบว่ากระเทียมโทนดำยังเพิ่มภูมิต้านทานไข้หวัดใหญ่ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ชะลอวัย และลดความอ้วน
กระเทียมดำยังสามารถเสริมสร้างภูมิต้านทาน มีสรรพคุณต่อต้านสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ กระตุ้นการฟื้นตัวของผู้ป่วยเบาหวาน ลดความดันเลือด ยับยั้งการเกิดลิ่มเลือดให้หลอดเลือดสะอาด เลือดไหลเวียนได้ดี และลดระดับคอเรสเตอรอล
แม้ประโยชน์ของกระเทียมดำจะมากกว่ากระเทียมสด แต่ควรควบคุมปริมาณที่ทานเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง ปัญหาสุขภาพแต่ละอย่าง ต้องทานกระเทียมดำในปริมาณแตกต่างกันออกไป และอาจต้องใช้ในระยะยาว




ที่มา
https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-300/garlic
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1021949816301727
https://www.blackgarlichasarrived.com/nutrition-facts-and-mineral-content