สวัสดีอีกครั้ง แอดมินเจ้าเก่าเองค่า เจอกันอีกแล้วกับความกำกวมของโรคยอดฮิตที่เรียกได้ว่าถามใคร ก็แทบจะเป็นกันทั้งนั้น นั่นคือ “ไขมันในเลือดสูง” ค่ะ บางคนก็เรียก “คอเลสเตอรอลสูง” เอ๊ะ! ว่าแต่มันต่างกันยังไง ตามอ่านต่อได้เลยค่า
ที่ว่าไขมันสูง เคยสงสัยมั้ย ไขมันอะไรที่สูง?
ว่าด้วยเรื่องของไขมัน ต้องทราบกันก่อนค่ะว่าไขมันในเลือดที่เราไปตรวจกันส่วนใหญ่มีทั้งสิ้น 2 ประเภท
1. คอเลสเตอรอล (Cholesterol): คอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดที่พบได้ในสัตว์เท่านั้นค่ะ (ดังนั้นกินกะทิก็ไม่ได้ทำให้คอเลสเตอรอลสูงนะคะ แต่ไปเพิ่มไตรกลีเซอไรด์แทน) แต่นอกจากสัตว์แล้ว อาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล กลับเป็นตัวร้ายที่ทำให้คอเลสเตอรอลสูงได้ค่ะ ไว้จะอธิบายเพิ่มเติมในภายหลัง ตอนนี้มารู้จักชนิดของคอเลสเตอรอลกันก่อน
i. ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) หรือคนไทยเรียก คอเลสเตอรอลตัวร้าย: ชนิดนี้นี่แหละค่ะที่เป็นสาเหตุของการไปสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบ เสื่อม และแข็ง จนเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดสมองตีบ ค่ะ
ii. ชนิดความหนาแน่นมาก (HDL) หรือคนไทยเรียก คอเลสเตอรอลตัวดี: ชนิดนี้กลับทำหน้าที่กำจัดไขมันตัวร้ายต่างๆ ไม่ให้เกาะสะสมผิดที่ผิดทาง ใครยิ่งมีมาก ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่กล่าวมาน้อยลง แต่การจะเพิ่มไขมัน HDL ได้ก็ไม่ง่ายค่ะ ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถเพิ่มระดับไขมันดีได้เลย ต้องอาศัยการออกกำลังกายซะเป็นส่วนใหญ่ หรือการทานอาหารบางประเภทแทนค่ะ
สาเหตุของไขมันในเลือดสูง
2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride): ไขมันชนิดนี้หากมีมากเกินไปก็เกิดการสะสมได้เช่นกัน ส่วนใหญ่จะสะสมในรูปของเซลล์ไขมัน ก็คือที่พอกตามแขน ขา หน้าท้องของเรานี่แหละค่ะ ไม่เพียงเท่านั้น มันยังสามารถพอกตามอวัยวะภายใน เช่น ตับ ได้ด้วย (คงเคยได้ยินโรคไขมันพอกตับกันใช่มั้ยคะ? ก็เจ้าไตรกลีเซอไรด์นี่แหละค่ะสาเหตุ) ส่วนใหญ่เราได้ไตรกลีเซอไรด์มาจากอาหาร โดยเฉพาะอาหารหวาน มัน ทอด ผัด ทั้งหลาย และที่สำคัญเลยคือ เหล้าเบียร์ ค่า อาหารเหล่านี้เรามักทราบกันดีว่าเป็นอาหารก่อให้เกิดโรคอ้วน
ทราบกันแล้วว่าไขมันแต่ละชนิดมาจากแหล่งต่างๆ กัน ครั้งหน้าไปตรวจเลือด สังเกตดีๆ นะคะว่าไขมันตัวไหนสูงเกิน จะได้เลือกงด เลือกลด อาหารได้ถูกชนิดค่ะ
1. ความผิดปกติทางพันธุกรรม: คนที่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ก็มีโอกาสเกิดโรคไขมันในเลือดสูงง่ายขึ้น แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาละเอียดขึ้นถึงระดับยีนส์ ว่าแม้พันธุกรรมจะเสี่ยงต่อการเป็นโรค แต่กลับถูกควบคุมด้วยวิถีชีวิตของคนผู้นั้น หากปฏิบัติตัวได้ดี ทานอาหารที่มีประโยชน์ พันธุกรรมเหล่านั้นก็จะไม่แสดงออกมาค่ะ องค์ความรู้ใหม่นี้ทางการแพทย์เรียกว่า “กระบวนการเหนือพันธุกรรม (Epigenetics)” ชื่อเท่ห์เลยใช่มั้ย มันก็คือความประพฤติ และพฤติกรรม (lifestyle) ของบุคคลผู้นั้นนั่นเอง
2. โรคบางชนิด: เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ (hypothyroidism) ทำให้ระบบการเผาผลาญเสียไป จึงทำให้เกิดไขมันสะสมมากผิดปกติ แต่บางโรค เช่น เบาหวาน โรคอ้วน กลับไม่แน่ใจว่าอะไรคือไก่ อะไรคือไข่ เพราะไขมันในเลือดสูงก็เสี่ยงเบาหวาน และเบาหวานก็เสี่ยงไขมันในเลือดสูงค่ะ ส่วนใหญ่เราจึงเจอคนเป็นโรคนี้แบบแพคคู่นั่นเอง
3. ยาบางชนิด: เช่น ยาสเตียรอยด์ (steroid) เป็นต้น
4. พฤติกรรมการรับประทานอาหาร: อันนี้เด็ดสุดค่ะ แทบจะร้อยทั้งร้อยมักเกิดจากสาเหตุนี้ และคนส่วนใหญ่กลับมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก จึงทำให้ปรับพฤติกรรมได้ยากค่ะ อาหารที่ควรเลี่ยงหลักๆ เลยคือ
a. อาหารมัน ทอด ผัด – ตรงตัวมากใช่มั้ยคะ กินมันเยอะ ก็ไขมันในเลือดสูง แต่รู้มั้ยคะ คนส่วนใหญ่ไขมันในเลือดสูงได้แม้จะเลี่ยงอาหารทอด อาหารมันแล้วก็ตาม
b. อาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล – กลุ่มนี้นี่แหละค่ะสาเหตุอันดับต้นๆ เลย อาหารเหล่านี้ได้แก่ แป้งหรืออาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยวขนาดต่างๆ และน้ำตาล เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลจากผลไม้ น้ำตาลจากน้ำผึ้ง น้ำหวาน ไซรัป หรือแม้แต่นม (มีน้ำตาลที่ไม่มีรสหวาน คือน้ำตาลแลคโตส) เป็นต้น แม้อาหารเหล่านี้ไม่มีไขมันเลย แต่ในท้ายที่สุดเมื่อร่างกายเผาผลาญไม่หมด มันจะถูกสะสมในรูปของไขมันเช่นเดียวกันค่ะ คนเราจึงอ้วนจากแป้งและน้ำตาล มากกว่าไขมันเองเสียอีก ซ้ำร้าย กระบวนการย่อยแป้งและน้ำตาล จะเกิดสารตัวหนึ่งคือ Acetyl CoA ซึ่งเป็นสารตั้งต้นให้ร่างกายนำไปสร้างเป็นคอเลสเตอรอลเสียอย่างนั้น ก็เลยไขมันสูงไปกันใหญ่เลยทีนี้
c. สุรา – เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ มักหมักมาจากธัญพืช เช่น บาร์เลย์ มอล์ต อันอุดมไปด้วยน้ำตาลและพลังงานที่สูง หากผู้ดื่มไม่ออกกำลังกายเพียงพอ พลังงานที่สูงจนเหลือล้นนั้นก็ต้องหาที่ลง สุดท้ายก็ไปลงกับหน้าท้อง กับแขนขา เรานั่นยังไงละคะ
หมายเหตุ: คนปกติสามารถทานไข่แดงได้นะคะ ส่วนผู้สูงอายุขอให้ไม่เกิน 2 ฟองต่อวันค่ะ ไข่แดงแม้จะมีไขมันสูง แต่เป็นไขมันชนิดดีๆ ทั้งนั้น เช่น lecithin เป็นต้น แถมยังอุดมไปด้วยวิตามินนานาชนิด หากไม่ทานจนมากเกินพอดี ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องคอเลสเตอรอลสูงเลยค่ะ
ไขมันในเลือดสูง ไม่มีอาการ
ใช่ค่ะ มันเป็นภัยที่แฝงตัวมาเงียบๆ บางคนก็รู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง เวียนศีรษะได้บ้าง จนบางทีผู้ป่วยก็ไม่ทันตั้งตัว เจออีกทีมันก็พาโรคแทรกซ้อนมาเป็นขโยงแล้ว ดังนั้นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปจึงควรไปพบแพทย์ตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งนะคะ
“โรคแทรกซ้อน” แขกไม่ได้รับเชิญที่ไขมันในเลือดสูงพามา
– โรคอ้วน (Obesity): ตรงไปตรงมา ไขมันพอกมากก็เกิดโรคอ้วนได้มาก ความอ้วนนี้จัดเป็นโรค เพราะมันเองก็อันตรายไม่เบา บางคนทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) ก็มี งานวิจัยยังพบอีกว่าผู้ป่วยโรคอ้วนมีอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ สูงกว่าผู้ที่มีรูปร่างปกติอีกด้วยค่ะ
– เบาหวาน (Diabetes): พบว่าผู้มีไขมันในเลือดสูง จะทำให้เกิดภาวะดื้อฮอร์โมนอินซูลิน (insulin resistance) ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานนั่นเอง
– โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ: จากคอเลสเตอรอลมาพอกบริเวณหลอดเลือด เกิดเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction) เสียชีวิตได้ค่ะ
– โรคหลอดเลือดสมองตีบ (Stroke): หากไปพอกที่หลอดเลือดสมอง ก็ทำให้สมองขาดเลือด กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้เลยนะคะ
– ยังมีโรคอื่นๆ อีกมากมายที่ไขมันในเลือดสูงจะพามา เช่น ไขมันเกาะตับ (Fatty liver disease), โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, ไตเสื่อม ฯลฯ
เป็นไขมันในเลือดสูงแล้ว ทำยังไงต่อดี?
แน่นอนเลยว่าสิ่งสำคัญที่สุดของโรคนี้ คือการ “ปรับพฤติกรรม” (Lifestyle Modification) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ง่ายที่สุด และมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ที่ตัวเองจะทำให้กับตัวเองได้
– งดรับประทานอาหารกลุ่มเสี่ยง: อธิบายค่อนข้างละเอียดแล้วด้านบน ขอไม่พูดซ้ำนะคะ
– ออกกำลังกาย: ออกกำลังกายประเภทแอโรบิค (aerobic exercise) คือการออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไปโดยไม่พัก จะเดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ เต้น หรือโยคะก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายได้จุดเตาเผาไขมันขึ้นมาค่ะ วิธีนี้ได้ผลดีมากทั้งเรื่องการลดไขมันในเลือด ลดน้ำหนัก ลดความดัน และควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูงเลยค่ะ ทำเถอะค่ะขอร้อง
– เน้นการปรุงอาหารแบบ “ต้ม ตุ๋ม นึ่ง ลวก อบ ยำ” แทนการใช้น้ำมัน โดยเฉพาะทุกวันนี้การทอดแบบอนามัยทำได้ง่ายขึ้น เพียงใช้เครื่องทอดไร้น้ำมัน เท่านั้นค่ะ (ไม่ได้มาขายของนะคะ อย่าเข้าใจผิด)
– เปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ในบ้าน: น้ำมันที่ดีและเหมาะกับโรคไขมันในเลือดสูง คือน้ำมันจากพืชค่ะ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว แต่เดี๋ยวก่อน!! ไม่รวมน้ำมันจากพืชเขตร้อน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม นะคะ พวกนี้ไขมันอิ่มตัวเยอะมาก ยิ่งทานไตรกลีเซอไรด์จะเพิ่มเอาง่ายๆ
– ทานอาหารลดไขมันในเลือด >> อ่านหัวข้อถัดไปเลยค่ะ
จะกินให้อิ่มทั้งที เลือกที่ดีต่อสุขภาพค่ะ ไขมันในเลือดสูง กินอะไรดีบ้าง?
แอดมินเพจเบเนก้า คัดสรรรายการอาหารที่มีงานวิจัยแล้วว่าช่วยลดไขมันในเลือดได้จริงมาให้อ่านกันนะคะ จริงๆ ยังมีอีกมาก แต่จะขอยกตัวอย่างที่ชัดเจน ให้ผู้อ่านได้ไปเลือกทานกันก่อนค่ะ
– ชาเขียวและสารสกัดจากชาเขียว (Green Tea): ในชาเขียวจะมีสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญชื่อ คาเทชิน (catechin) ซึ่งไปยับยั้งเอนไซม์สร้างไขมัน พบว่าสามารถช่วยลดไตรกลีเซอร์ไรด์ และ LDL ได้ค่ะ (แต่ยังไม่พบว่าช่วยเพิ่ม HDL นะคะ)
– โอเมก้า 3 (Omega-3): โอเมก้า 3 คือไขมันไม่อิ่มตัวที่พบได้ในปลาน้ำลึกที่มีไขมันสูงๆ เช่น แซลมอน ปัจจุบันมีการผลิตในรูปแบบเม็ดให้สามารถหาทานได้ง่ายขึ้นค่ะ โดยโอเมก้า 3 มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ยับยั้งตะกรันที่เกิดจากไขมันพอกหลอดเลือด ลดการสร้างคอเลสเตอรอล LDL ได้ และพบว่าช่วยลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองได้ด้วยนะคะ
– กระเทียมดำ (Black Garlic): งานวิจัยพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระในกระเทียมดำชื่อย่อว่า เอสเอซี (SAC) สามารถลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากลำไส้, ยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้สร้างคอเลสเตอรอลได้หลายชนิด เช่น HMG CoA reductase, อีกทั้งยังกระตุ้นเอนไซม์ที่ใช้เผาผลาญไขมันอีกด้วย (Carnitine palmitoyltransferase-1) จึงสามารถลดคอเลสเตอรอลตัวร้าย LDL และเพิ่ม HDL ได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถลดความดัน และคืนความยืดหยุ่นให้กับเส้นเลือดได้อีกด้วยค่ะ
– ขมิ้นชัน (Turmeric): ขมิ้นชันมีสารต้านอนุมูลอิสระชื่อ เคอคิวมิน (curcumin) ช่วยลดระดับการแสดงออกของยีนส์สร้างคอเลสเตอรอลได้ สามารถลด LDL และเพิ่ม HDL ได้ด้วยค่ะ
– วิตามินซี (Vitamin C): มีงานวิจัยให้ผู้ทดลองทานวิตามินซีขนาด 500 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกัน 6 เดือน พบว่าคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่วิตามินซียังไม่พบว่าช่วยเพิ่ม HDL นะคะ
แอดมินถือคตินี้เสมอค่ะ “ถ้าจะอ้วน จงอ้วนด้วยอาหารคุณภาพ” เพื่อจะไม่ทานยาเป็นอาหารในอนาคตนะคะ สำหรับบทนี้ขอลาไปก่อนค่ะ พบกันใหม่หัวข้อหน้า อย่าลืมติดตามได้จากเพจเบเนก้า นะคะ




Reference
Ha AW, et al. The effects of black garlic (Allium sativum) extracts on lipid metabolism in rats fed a high fat diet. Nutrition Research and Practice. 2015;9(1):30-36.
Seo DY, et al. Aged garlic extract enhances exercise-mediated improvement of metabolic parameters in high fat diet-induced obese rats. Nutrition Research and Practice. 2012;6(6):513-519.
Jung ES, et al. Reduction of blood lipid parameters by a 12-wk supplementation of aged black garlic: A randomized controlled trial. Nutrition. 2014;30 (9):1034-1039.
Guide to anti-aging & regenerative medicine, American Academy of Anti-Aging medicine