โรคผมร่วงเป็นหย่อมเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (autoimmune disorder) ที่พบได้บ่อยและทำให้เกิดผมร่วงแบบทันทีทันใด ในประเทศสหรัฐอเมริกามีคนเป็นโรคนี้อยู่ราว ๆ 6.8 ล้านคน ส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคนี้จะทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมเล็ก ๆ ขนาดประมาณเหรียญบาท ซึ่งคนส่วนมากจะมีผมร่วงเพียงไม่กี่หย่อมเท่านั้น แต่บางรายอาจมีผมร่วงมากกว่านั้น บางครั้งอาจทำให้ผมร่วงหมดทั้งศีรษะ (alopecia totalis) หรือบางรายที่เป็นมากอาจทำให้ผมที่ศีรษะและขนทั่วร่างกายร่วงทั้งหมด
(alopecia universalis) โรคนี้อาจเกิดได้กับทุกคนในทุกช่วงวัยและทุกเพศ แต่มักพบในผู้ที่มีอายุไม่ถึง 30 ปี ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าสาเหตุและอาการ รวมถึงการวินิจฉัยและแนวทางในการดูแลโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีอะไรบ้าง
สาระน่ารู้ของโรคผมร่วงเป็นหย่อม
ในส่วนนี้จะพูดถึงประเด็นสำคัญบางส่วนของโรคผมร่วงเป็นหย่อม ซึ่งคุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ หนึ่งในห้าของผู้ที่เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีคนในครอบครัวที่เป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน โรคผมร่วงเป็นหย่อมมักเกิดขึ้นแบบกะทันหันซึ่งอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แค่ไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่พบว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีสาเหตุมาจากความเครียดคนที่เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมและเป็นเพียงไม่กี่หย่อมมักมีอาการที่เกิดขึ้นทันทีทันใด และผมขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องรักษา โรคผมร่วงเป็นหย่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
การดูแลรักษา
โรคผมร่วงเป็นหย่อมเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (autoimmune disorder) ที่พบได้บ่อยและทำให้เกิดผมร่วงแบบกะทันหัน
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมให้หายขาด แต่แพทย์ก็มีแนวทางการดูแลรักษาที่จะทำให้ผมของคุณขึ้นใหม่ได้เร็วขึ้น
วิธีการดูแลรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่ใช้กันมากที่สุดคือการใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบที่มีประสิทธิภาพและช่วยกดภูมิคุ้มกัน มักใช้เป็นยาฉีดเฉพาะที่, ยาทาภายนอก, หรือรับประทาน
ยาตัวอื่น ๆ ที่ช่วยให้ผมขึ้นเร็วหรือส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันคือยาไมน็อกซิดิล (Minoxidil), แอนทราลิน (Anthralin), SADB, และ DPCP แม้ว่ายาบางตัวจะช่วยให้ผมขึ้นใหม่ได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการเกิดผมร่วงหย่อมใหม่ ๆ ได้
งานวิจัยบางชิ้นแนะนำให้ใช้การรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัดร่วมแสง (Photochemotherapy) เป็นการรักษาทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหรือไม่ต้องการใช้วิธีการรักษาที่มีผลทั่วทั้งร่างกาย (Systemic) หรือการรักษาแบบสอดใส่วัตถุเข้าไปในร่างกาย (Invasive)
นอกจากเหตุผลเรื่องความสวยงามแล้ว เส้นผมและขนยังทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันสิ่งอื่น ๆ อีกด้วย ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมควรปฏิบัติดังนี้:
- ทากันแดดเมื่อต้องโดนแสงแดด
- สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันดวงตาจากแสงแดดและสิ่งสกปรก ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของคิ้วและขนตา
- สวมเครื่องแต่งกายคลุมศีรษะ เช่น หมวก, วิกผม, และผ้าพันคอเพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะสัมผัสกับแสงแดด หรือทำให้ศีรษะอุ่นอยู่เสมอ
- ใช้ครีมป้ายจมูกทาภายในจมูกเพื่อช่วยให้เนื้อเยื่อชุ่มชื่นและเพื่อกันสิ่งสกปรก ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของขนจมูก
โรคผมร่วงเป็นหย่อมไม่ได้ทำให้คุณมีอาการป่วยโดยตรง อีกทั้งไม่ได้เป็นโรคติดต่อ แต่กลับมีผลทางด้านจิตใจ ผู้ที่เป็นโรคนี้หลายคนมีภาวะป่วยทางจิตใจซึ่งต้องได้รับการรักษา และต้องรักษาควบคู่ไปกับภาวะผมร่วงด้วยเช่นกัน
การเข้ากลุ่มบำบัดหรือการเข้ารับคำปรึกษาจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถแชร์ประสบการณ์และความรู้สึกของตนเองให้ผู้อื่นได้รับฟัง และยังได้พูดคุยถึงปัญหาด้านจิตใจที่มีต่อภาวะผมร่วง
โรคภาวะผมร่วงเป็นหย่อมถูกนำมาเปรียบเทียบกับโรคด่างขาว (vitiligo) ซึ่งเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองทางผิวหนัง เกิดจากการที่ร่างกายโจมตีเซลล์ที่ผลิตเมลานิน ทำให้เป็นปื้นสีขาวบริเวณผิวหนัง นักวิจัยระบุว่าทั้งสองโรคนี้อาจมีพยาธิกำเนิดที่คล้ายคลึงกัน เพราะเป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันและไซโตไคน์ที่มีลักษณะคล้ายกัน อีกทั้งยังเกิดจากปัจจัยเสี่ยงทางกรรมพันธุ์เช่นเดียวกัน
ดังนั้นแนวทางในการรักษาหรือป้องกันโรคใดโรคหนึ่ง อาจส่งผลต่ออีกโรคได้
มีการบันทึกไว้ว่าการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมโดยใช้ยาไดเฟนซิโพรน (DCP) ทำให้เกิดอาการแพ้จากการสัมผัส (contact sensitizer) และอาจทำให้เกิดโรคด่างขาวได้
จากการวิจัยเบื้องต้นพบว่าสารเควอซิติน (quercetin) ซึ่งเป็นสารไบโอฟลาโวนอยด์ที่พบในผักและผลไม้ สามารถยับยั้งการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมและสามารถรักษาอาการผมร่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไรก็ตามต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม รวมถึงการทดลองในมนุษย์ก่อนนำสารเควอซิตินมาใช้ในการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม
สาเหตุ
โรคนี้มีสาเหตุจากการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวทำลายเซลล์ที่อยู่ในเซลล์รากผม ทำให้เซลล์เกิดการหดตัวและชะลอการเจริญเติบโตของเส้นผม แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเหตุใดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงทำลายเซลล์รากผมเช่นนี้
แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับโรคนี้คือพันธุกรรม โดยมักเกิดกับผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดกันและเป็นโรคนี้ จากสถิติพบว่าหนึ่งในห้าของผู้เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
งานวิจัยอื่น ๆ พบว่าคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม ตนเองและคนในครอบครัวมักมีประวัติเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคภูมิแพ้ทางกรรมพันธุ์ (Atopy) ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายอย่างโรค ต่อมไทรอยด์อักเสบ (thyroiditis) และโรคด่างขาว
แม้ว่าคนจำนวนมากจะคิดว่าความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของโรคผมร่วงเป็นหย่อม ทว่ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์น้อยมากที่พบว่าความเครียดเป็นสาเหตุของโรคนี้ แม้ว่าผู้ที่มีความเครียดมากอาจกระตุ้นในเกิดภาวะนี้ได้ แต่งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์
การรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ
แม้ว่าแนวทางการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมด้วยแพทย์แผนปัจจุบันจะมีน้อยมาก แต่งานวิจัยเรื่องแนวทางการรักษาโรคนี้ด้วยวิธีธรรมชาติกลับมีน้อยยิ่งกว่าบางคนอาจแนะนำให้ถูหัวหอมหรือน้ำกระเทียม, ชาเขียวเย็น, น้ำมันอัลมอนด์, น้ำมันโรสแมรี, น้ำผึ้ง, หรือน้ำกะทิลงบนหนังศีรษะ แม้ว่าวิธีเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดอันตราย แต่ก็ไม่งานวิจัยรองรับว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางคนอาจเลือกรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกเช่นการฝังเข็มและสุคนธบำบัด (aromatherapy) แม้ว่าจะมีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยที่สนับสนุนการรักษาด้วยยวิธีเหล่านี้ก็ตาม Top of Form Bottom of Form
อาการ
อาการเด่นที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคผมร่วงเป็นหย่อมคือการพบผมหรือขนร่วงเป็นหย่อม ๆ มักเกิดบริเวณหนังศีรษะ โดยมีขนาดประมาณเหรียญบาท อาจเกิดได้กับขนบริเวณอื่น ๆ เช่น เคราและขนตา มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นทันทีทันใด อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่วันหรือเป็นอาทิตย์ อาจมีอาการคันหรือแสบร้อนบริเวณที่เป็นก่อนผมหรือขนร่วง เซลล์รากผมไม่ได้ถูกทำลายไปด้วย ดังนั้นผมจึงงอกขึ้นใหม่ได้เมื่อการอักเสบของเซลล์ลดลง ผู้ที่มีผมร่วงเพียงไม่กี่หย่อมมักจะมีอาการแบบทันทีทันใด และผมสามารถขึ้นใหม่ได้หมดโดยไม่ต้องได้รับการรักษา
ผู้ป่วยราว 30 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมจะมีอาการรุนแรงขึ้นหรือมีผมร่วงและผมขึ้นใหม่เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ผู้ป่วยราวครึ่งหนึ่งจะหายจากโรคผมร่วงเป็นหย่อมภายใน 1 ปี แต่หลาย ๆ คนมักกลับมาเป็นซ้ำ และ 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยจะพัฒนาไปเป็นโรคผมร่วงหมดทั้งศีรษะหรือผมที่ศีรษะและขนทั่วร่างกายร่วงทั้งหมด โรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถส่งผลต่อเล็บมือและเล็บเท้าได้ ซึ่งบางครั้งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็เป็นสัญญาณแรก ๆ ของการเกิดโรคนี้ โดยเล็บอาจมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้:
โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและหญิงเท่า ๆ กัน
- มีรอยบุ๋ม
- มีจุดขาวหรือเส้นสีขาว
- เล็บหยาบขึ้น
- เล็บขาดความเงางาม
- เล็บบางและเปราะ
อาการแสดงเพิ่มเติม:
- เส้นผมคล้ายเครื่องหมายอัศเจรีย์ (Exclamation mark hairs): เป็นลักษะของเส้นผมที่มีลักษณะเป็นเส้นสั้น ๆ โดยโคนเส้นผมมีลักษณะบาง พบบริเวณรอบ ๆ หรือตรงกลางบริเวณที่ศีรษะล้าน
- Cadaver hairs: เป็นลักษณะของผมที่ขาดก่อนงอกออกมาถึงชั้นผิวหนัง
- ผมขาว: อาจพบผมขาวในบริเวณที่มีผมร่วง
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคผมร่วงเป็นหย่อมจากการตรวจร่างกาย อาจดูจากความรุนแรงของภาวะผมร่วงและนำเส้นผมไปตรวจกับกล้องจุลทรรศน์ หากแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย อาจตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังไปตรวจ (Skin biopsy) และอาจตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อแยกออกจากโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเองโรคอื่น ๆ โรคผมร่วงเป็นย่อมเป็นโรคที่มีอาการแสดงชัดเจน ดังนั้นจึงสามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ



